จากองค์ความรู้ที่ได้ในงานวิจัยต่างๆ ของสถาบันไทยพัฒน์ ที่ให้ความสำคัญในความเข้ากันได้ต่อการนำไปใช้กับสังคมไทยและยังคงความสอดคล้องกับบริบทที่เป็นสากล นำมาสู่การกระจายความรู้ในรูปของการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ อาทิ การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในธุรกิจ การพัฒนารูปแบบการจัดทำรายงานความพอเพียงของกิจการ การส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค การฝึกอบรมและให้คำปรึกษาเชิงลึกในโครงการ CSR DAY การพัฒนาแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงกลยุทธ์ การพัฒนาบริษัทจดทะเบียนด้านการจัดทำรายงาน CSR
ปัจจุบัน หน่วยงานที่ปรึกษาของสถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility: CSR) และการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Value: CSV) ต่อสังคม แก่หน่วยงานทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
CSR
ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการขั้นพื้นฐาน คือ การปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย ถือเป็นสิ่งทิ่ทุกองค์กรต้องดำเนินการ แต่ความปกติสุขของสังคม มิได้อาศัยข้อกำหนดทางกฎหมายได้เพียงลำพัง เนื่องจากปัญหาเรื่องความครอบคลุมและความรัดกุมในข้อกฎหมาย หรือผลกระทบจากการประกอบการในหลายกรณีแม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้กิจการที่ดี จึงต้องดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในขั้นสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อดูแลผลกระทบจากการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบ มิให้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่สังคมทั้งในเชิงพฤตินัยและนิตินัย
สถาบันไทยพัฒน์ ให้ความสำคัญกับการผนวกความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ (CSR-in-process) ของกิจการ โดยยึดหลักความโปร่งใสในการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่สะท้อนผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบในรูปของรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) สามารถสื่อสารและรับฟังผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีความคาดหวังและความสนใจที่แตกต่างกัน ในฟังก์ชันงานผู้มีส่วนได้เสียสัมพันธ์ (Stakeholder Relations) ซึ่งได้ถูกกระจายไปยังผู้รับผิดชอบในส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มนั้นๆ จนนำไปสู่การสร้างให้เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน
CSV
นอกเหนือจากการดูแลผลกระทบจากการประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบแล้ว กิจการยังสามารถใช้การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการธุรกิจ ในลักษณะที่ก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคม พัฒนาเป็นความแตกต่างในการดำเนินงานเหนือองค์กรอื่น จนนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันและความสามารถในการทำกำไรระยะยาวของกิจการ
กิจการสามารถริเริ่ม CSV ในองค์กร ด้วยการพัฒนากรณีทางธุรกิจ (Business Case) ที่สนองตอบต่อประเด็นทางสังคมที่สนใจและถูกหยิบยกเพื่อตัดสินใจลงทุนดำเนินการโดยชี้ให้เห็นคุณค่าทางสังคมและคุณค่าทางธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับ การเฟ้นหาหุ้นส่วนภายนอกซึ่งมีความเชี่ยวชาญจำเพาะในประเด็นทางสังคมนั้นๆ เพื่อคิดค้นนวัตกรรมสังคม (Social Innovation) และการสร้างสรรค์ร่วม (Co-Creation) ระหว่างบุคลากรที่มีความสามารถจากภายในองค์กรและหุ้นส่วนภายนอก จนได้เป็นกลยุทธ์การสร้างคุณค่าร่วมของกิจการ
สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาทีมที่ปรึกษาซึ่งผ่านการอบรมและได้รับการรับรองให้เป็น Certified Shared Value Consultant จาก Shared Value Initiative สำหรับรองรับความต้องการของหน่วยงานที่ประสงค์จะนำแนวคิด CSV มาพัฒนาเป็นกลยุทธ์องค์กรเพื่อตอบโจทย์ทางสังคม โดยดึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญขององค์กรมาใช้สร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Thai CSR Network)
No comments:
Post a Comment