Friday, September 09, 2022

“ESG 100” เครื่องหมายการันตีบริษัทมหาชน

ก้าวสู่การบริหารที่ยั่งยืน เปิดโอกาสธุรกิจเชื่อมต่อทั่วโลก
โดย วันทนา อรรถสถาวร

นักลงทุนสถาบัน ตลอดจนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต่างคุ้นเคย และรู้จักกับรางวัล ESG 100 แล้วเกณฑ์นี้มีประโยชน์อย่างไร และจะส่งผลต่อการดำเนินการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์อย่างไร

ESG กำลังเป็นเกณฑ์ภาคบังคับ ตลอดจนเป็นโอกาสทางธุรกิจให้สามารถเชื่อมต่อกับลูกค้า คู่ค้า และซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก หลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการความยั่งยืนในการระดมทุนจากภาคสถาบันต่าง ๆ จำเป็นต้องมีหลักการันตีว่าบริษัทผ่านเกณฑ์เหล่านี้ ดังนั้นหลายบริษัทจึงต้องการเข้าสู่เกณฑ์ ESG 100

Thaiquote ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ จากสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อน ESG

สถาบันไทยพัฒน์เป็นหน่วยงานสำคัญในการประเมิน ESG 100 ให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันไทยพัฒน์ทำงานในภาคส่วนของเอกชนเป็นหลัก งานส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเกี่ยวกับความยั่งยืน ESG, SDGs ตลอดจนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม การให้บริการหลัก ๆ คือ ให้คำปรึกษา ฝึกอบรม การทำวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน

ส่วน ESG 100 เริ่มต้นจากปี 2015 เรื่องความยั่งยืนเริ่มเข้ามาในตลาดทุนไทย ช่วงนั้นสถาบันฯได้เข้าไปช่วย กลต.ทำเรื่องเกี่ยวกับ CSR และการต่อต้านการคอร์รัปชัน ช่วงนั้น ก.ล.ต.ให้เงินสนับสนุนก้อนแรกมา ในช่วงนั้นจะได้ข้อมูลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้งตลาดมา ทำให้สถาบันฯ ได้เห็นภาพของความยั่งยืนมากน้อยอย่างไร ทางสถาบันฯ ก็ได้ข้อมูลจากตรงนั้นมาต่อยอดมาทำทำเนียบ ESG 100 ซึ่งหมายถึง 100 บริษัทที่มีความโดดเด่นเรื่อง ESG ปีนี้เข้าปีที่ 8 ในการจัดทำทำเนียบ ESG 100 ปัจจุบันนี้มีกว่า 800 หลักทรัพย์ที่ทำการประเมินอยู่

หลักเกณฑ์การเข้าสู่ ESG 100
การประเมิน ESG ทั่วโลกมีการมองถึง 2 แนวทางใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ แนวทางแรกให้ตอบแบบสอบถาม เพื่อนำคำตอบเหล่านั้นมาประมวลผล อีกแนวทางหนึ่งที่สถาบันไทยพัฒน์ดำเนินการคือการไปดูข้อมูลของบริษัทเปิดเผยข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์

ส่วนของการประเมินนั้น เนื่องจากสถาบันไทยพัฒน์เป็นหุ้นส่วนดำเนินการกับ GRI หรือ Global Reporting Incentive ซึ่งเป็นหน่วยงานการประเมิน ESG ที่บริษัททั่วโลกกว่า 80% ได้ดำเนินการประเมินผ่านหน่วยงานดังกล่าว GRI เป็นหนึ่งในมาตรฐานความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับการทั่วโลก เสมือนหนึ่งที่ ISO ได้รับการยอมรับในภาคการผลิต

ประโยชน์ที่บริษัทได้รับประโยชน์จากการประเมิน ESG 100
ปัจจุบันกระแส ESG ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว เริ่มเข้ามาเป็นกระแสหลัก ทุกบริษัทที่จดทะเบียนเข้าใจและเริ่มเข้ามาพูดเรื่อง ESG ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ทางสถาบันฯ ต้องไปอธิบายความว่าอะไรคือ ESG เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะนักลงทุนสถาบันปัจจุบันนี้ยึด ESG เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาเข้ามาซื้อหุ้น โดยตั้งคำถามไปยังผู้บริหารฝ่ายการเงินว่ามีเรื่องของ ESG หรือไม่อย่างไร ปัจจุบันนี้การออกไป Road Show ในต่างประเทศเพื่อหานักลงทุนสถาบัน คำถามครึ่งต่อครึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับ ESG ในมิติต่าง ๆ ที่เหลือก็เป็นข้อมูลปกติของบริษัททั่วไป เป็นแรงกดดันหนึ่งที่มาจากผู้ลงทุนที่เป็นสถาบัน ซึ่ง ESG คือ พลังสำคัญของภาคตลาดทุนที่ต้องการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในส่วนที่สองที่เป็นเหตุผลที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต้องดำเนินการ ESG เพราะเป็นกฎเกณฑ์ หรือข้อระเบียบบางอย่างที่มาจากภาคการกำกับดูแลซึ่งก็คือ ก.ล.ต. โดยในปีที่ผ่านมานี้มีกฎระเบียบที่ออกมาบังคับใช้การจัดทำ 56-1 One Report ที่บริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทต้องดำเนินการ ซึ่ง One Report มีข้อกำหนดใหม่ออกมาจากเดิมที่กำหนดให้บริษัทต้องดำเนินงานด้าน CSR ก็ปรับมาเป็น ESG ส่งผลให้ทุกบริษัทที่จดทะเบียนต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ไม่มากก็น้อย ให้กับสาธารณะชนได้รับทราบ

ในส่วนที่สามเป็นเรื่องของโอกาสทางธุรกิจ ปัจจุบันนี้คู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจเริ่มมีการสอบถามว่า ถ้าหากต้องการซื้อบริการหรือธุรกิจของบริษัทเพื่อมาเป็นซัพพลายเชนนั้น หนึ่งปัจจัยในการพิจารณาคือ การดูแลพนักงานและแรงงานอย่างไร มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ บริษัทอาจจะซื้อสินค้าจากบริษัทซัพพลายเชนดังกล่าวไม่ได้ ซึ่งเป็นแรงกดดันระหว่างคู่ค้าธุรกิจด้วยกันเอง ถ้าไม่ทำโอกาสในการดำเนินธุรกิจและบริการก็จะมีความสุ่มเสี่ยง จึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ

คุณสมบัติของบริษัทที่ได้เกณฑ์ ESG 100
เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมิน ESG 100 มี 2 เกณฑ์ใหญ่ด้วยกันคือ ชุดเกณฑ์แรกคือเกณฑ์คัดกรอง อีกชุดเกณฑ์หนึ่งคือชุดเกณฑ์ประเมิน ESG

เกณฑ์คัดกรองเบื้องต้นเรามีอยู่ทั้งหมด 3 เกณฑ์ ประกอบไปด้วย บริษัทต้องมีผลประกอบการกำไรติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปีเป็นต้นไป เป็นบริษัทที่ต้องไม่ได้รับการร้องทุกข์กล่าวโทษโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ในรอบปีการประเมิน มีการกระจายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยตามที่ก.ล.ต.กำหนดคือมากกว่า 15% ขึ้นไป เมื่อบริษัทผ่านเกณฑ์เหล่านี้ก็จะเข้าสู่เกณฑ์ประเมิน ESG

ส่วนการประเมิน ESG ก็มีอยู่ทั้งหมด 3 เกณฑ์ด้วยกัน คือ หนึ่งเกณฑ์การวิเคราะห์อุตสาหกรรม เป็นการนำเอาบริษัทที่ขอประเมินมาคลี่พิจารณาตามกลุ่มอุตสาหกรรม จะมีการประเมินเปรียบเทียบระหว่างอุตสาหกรรมเดียวกันเอง เช่น บริษัทอาหารก็จะเปรียบเทียบกับบริษัทอาหารด้วยกันเอง บริษัทพลังงานก็จะเปรียบเทียบกับบริษัทพลังงานด้วยกันเอง ทำให้การประเมิน ESG 100 เกลี่ยไปทุกอุตสาหกรรมที่เท่าเทียมกัน

ส่วนเกณฑ์ที่สองที่นำมาประเมินคือการวิเคราะห์กลยุทธ์องค์กร โดยมองว่ามีการตอบสนองต่อปัจจัย ESG มากน้อยเพียงใด เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก องค์กรได้มีการตั้งเป้า Net Zero กันหรือยัง มีการกำหนดเป้าหมายที่ 1 ที่ 2 กันอย่างไร และหากไม่มีการดำเนินการตามเป้าได้ในปัจจุบัน แล้วมีแผนจะมีการดำเนินการในอนาคตอย่างไร

เกณฑ์ที่สาม ดูเรื่องการรายงานทางการเงินด้วย เพราะท้ายที่สุด ESG 100 จะถูกนำมาใช้โดยนักลงทุน ซึ่งหากการลงทุนดังกล่าวทำไปแล้วไม่มีกำไร หรือมีผลตอบแทนด้านการลงทุนที่ไม่น่าพึงพอใจ นักลงทุนก็ไม่ต้องการหรือไม่ให้การสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่นประเด็นเรื่อง Climate Change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) บริษัทได้มองโอกาสในส่วนนี้อย่างไร ที่จะนำมาปฏิบัติเพื่อก่อประโยชน์ให้กับบริษัททั้งในแง่ของการลดต้นทุน การทำกำไร หรือโอกาสธุรกิจอย่างไร เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว องค์กรมองว่าจะช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายอย่างไร องค์กรจะทำ ESG ด้วยการปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นขององค์กร หรือองค์กรจะหันมาหาแนวทางเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการเปลี่ยนแหล่งพลังงานการผลิตที่เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งให้ประโยชน์ต่อกระบวนการผลิตมากกว่า เป็นต้น

ดังนั้น การวิเคราะห์เรื่องสถานะทางการเงินด้วย จะมีความแตกต่างระหว่างองค์กรที่มอง ESG เป็นส่วนหนึ่งของ CSR และการมอง ESG เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรทัดสุดท้ายของการดำเนินการที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น การมองประเด็นเรื่อง ESG เป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจในอนาคตจึงเป็นประเด็นที่สำคัญมากกว่าที่จะมองเป็นต้นทุนเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร ซึ่งสามารถมองเป็นโจทย์ทางธุรกิจที่แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กับการทำกำไรกลับคืนมาให้บริษัท เมื่อมองในมิตินี้ ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ หันมามอง ESG มากขึ้น

การยกระดับมาตรฐาน ESG
แม้ว่าในปัจจุบันทางสถาบันไทยพัฒน์ไม่มีการเปลี่ยนเกณฑ์การพิจารณา ESG แต่บริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่จะเข้าสู่เกณฑ์ของ ESG จะมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะจากอดีตที่บริษัทเสนอตัวเข้ามาพิจารณาประมาณ 500 บริษัท แต่ป้จจุบันนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 800 บริษัท ส่งผลให้มีการแข่งขันและมีตัวเลือกมากขึ้น และคาดว่าในอนาคตก็จะมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เข้ามาพิจารณาเกณฑ์ ESG ที่มากขึ้น

ผลกระทบ ESG ต่อบริษัทต่าง ๆ
บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับ ESG มีทั้งหมด 3 กลุ่มหลัก ๆ ประกอบด้วย กลุ่มแรก คือกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจร่วมกับบริษัทคู่ค้าหรือลูกค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตลาดในกลุ่มอียูที่มีภาษีคาร์บอนกับบริษัทที่มีการค้าข้ามพรมแดนกัน โดยเขาจะพิจารณาว่าบริษัทดังกล่าวหากกระบวนการผลิตไม่ก่อให้เกิดการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น หลายผลิตภัณฑ์ที่ได้ผลกระทบจากกฎเกณฑ์ดังกล่าวก็ต้องปรับตัว ถ้าหากไม่ปรับตัวก็เกิดความเสี่ยงที่จะขายสินค้าได้ตามช่องทางที่มีอยู่เดิม

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจของบริษัทส่งออกที่มีคู่ค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ส่งกันมาเป็นทอด ๆ เนื่องจากลูกค้าปลายทางไม่ต้องการบริษัทที่ผลิตแล้วปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือใช้พลังงานฟอสซิล คนที่อยู่ต้นทางตลอดห่วงโซ่อุปทานก็ต้องทำด้วย เพื่อให้อยู่ในมาตรฐานการตรวจสอบของลูกค้าส่งออกปลายทาง

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้ากับบริษัทในประเทศที่ปัจจุบันนี้ยังไม่ต้องปรับตัวเกี่ยวกับ ESG แต่คาดว่าในอนาคตอาจมีผลกระทบ

เป้าหมายการพัฒนาสถาบันไทยพัฒน์ในอนาคต
สถาบันฯ ก็จะพัฒนาการส่งเสริมให้บริษัทในประเทศเข้าสู่เป้าหมาย SDGs 17 ข้อตามที่สหประชาชาติกำหนดให้ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันนี้ทางสถาบันฯก็เข้าไปให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจว่าบริษัทของเขาเข้าสู่เกณฑ์ของ SDGs ข้อไหนบ้าง ซึ่งปัจจุบันนี้มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์กว่า 80% ที่เข้าเกณฑ์ SDGs แต่ประเด็นอยู่ที่บริษัทเหล่านั้นทำ 17 ข้อแล้วจบ แต่การวัดเกณฑ์มีเป้าหมายกว่า 100 ข้อ มีดัชนีวัดมากกว่า 200 มาตรฐาน ซึ่งการปฏิบัติจริงอาจเข้าข่าย แต่เมื่อพิจารณาจริงแล้วอาจไม่ใช่ทั้งหมด จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันไทยพัฒน์ในการนำพาบริษัทเหล่านี้ เพื่อให้เข้าสู่เกณฑ์เหล่านี้ตามดัชนีชี้วัดที่ทางสหประชาชาติกำหนด


[Original Link]

1 comment:

  1. Anonymous2:45 PM

    So whereas craps strikes at 100 or so rolls per hour and blackjack about 60 hands per hour, roulette strikes at a more stately pace -- roughly 45 spins per hour. In this article, you will learn 카지노 사이트 the fundamentals of roulette, nicely as|in addition to} how and when to bet, to extend your odds of profitable. Let's start by getting you conversant in the tools and guidelines of the sport. Even at the higher house advantage on an American wheel, most casino-goers sit in for quantity of} spins ultimately. It can be an entertaining, enjoyable way to spend a while.

    ReplyDelete