Thursday, January 18, 2024

SPRC รับมอบเครดิต ESG จากสถาบันไทยพัฒน์

ตอกย้ำความใส่ใจและดำเนินงานธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

18 มกราคม 2567 – บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชั้นนำของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในโรงกลั่นน้ำมันที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รับมอบเครดิตการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) หรือ ESG Credit จากโครงการติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแนวรั้วในรอบปี พ.ศ. 2566

ESG Credit เป็นการให้การรับรองโครงการและความริเริ่มที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ออกให้ในรูปของหน่วยเครดิต ESG จากสถาบันไทยพัฒน์ โดยประเมินจากขนาดของโครงการที่ส่งผลกระทบทางบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนสีเขียว1


นายโรเบิร์ต โดบริค (ที่สี่จากซ้าย) กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมคณะผู้บริหารบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) รับมอบประกาศนียบัตร ESG Credit จำนวน 5,732,266 เครดิต จากโครงการติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแนวรั้ว จากนายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ (ที่ห้าจากซ้าย) ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ณ โรงกลั่น สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จ.ระยอง

บมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ได้รับ ESG Credit จำนวน 5,732,266 เครดิต ในปี 2566 จากการลงทุนสีเขียว ตามนิยามในเอกสาร Core SDG2 indicators for entities ที่จัดทำโดย UNCTAD3 ในโครงการติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแนวรั้ว (Fenceline Air Quality Monitoring System Installation)

นายโรเบิร์ต โดบริค กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราภาคภูมิใจที่ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามหลัก ESG (Environmental, Social, and Governance) อย่างต่อเนื่องเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาจนได้รับการยอมรับ SPRC เชื่อมั่นใน วิสัยทัศน์ของเราที่ระบุว่า 'One Caring Family Energizing our Future,' ซึ่งความใส่ใจของเรานี้ครอบคลุม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย เราภูมิใจในผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนที่เราสร้างขึ้นผ่านแนวคิด "เราทำทุกสิ่งด้วยความเอาใจใส่และรับผิดชอบ" จุดนี้รวมถึงการสร้างความปลอดภัยในที่ทำงานแก่พนักงานของเรา ให้มั่นใจว่าพวกเขาทุกคนจะสามารถเดินทางกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยทุกวัน อีกทั้งยังรวมถึงการสร้างโลกและสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อชนรุ่นหลังและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า สถาบันฯ มีความยินดีที่ทาง บมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ได้รับการรับรองเครดิต ESG จากโครงการติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแนวรั้ว ซึ่งมีส่วนในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่รับผิดชอบ ในเป้าหมายที่ 12.4 ที่เป็นการจัดการสารเคมีและของเสียอย่างปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิต ตามกรอบข้อตกลงระหว่างประเทศ รวมทั้งลดการปลดปล่อยสารเคมีและของเสียเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดิน ได้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อลดผลกระทบทางลบที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด

โครงการติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณแนวรั้วรอบโรงงาน เริ่มศึกษาและดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เพื่อใช้เฝ้าระวังคุณภาพอากาศบริเวณรอบรั้วโรงงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยในการแจ้งเตือนเชิงรุก วางแผนแก้ไขปัญหาในเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบด้านคุณภาพอากาศและลดการร้องเรียนเหตุเดือดร้อนรำคาญ ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินที่จำเป็น และใช้ในการสื่อสารถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2566 โครงการติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณแนวรั้วรอบโรงงาน มีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 57.32 ล้านบาท

ระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณแนวรั้ว ประกอบด้วย ระบบตรวจวัดสารมลพิษทางอากาศจากปล่องระบายแบบต่อเนื่อง ระบบตรวจวัดด้านอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งนำเข้าแบบจำลองการกระจายตัวสารมลพิษทางอากาศเพื่อวิเคราะห์ผลทำนายรูปแบบการแพร่กระจายตัวของสารมลพิษทางอากาศ โดยคาดว่าโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2567

ESG Credit เป็นความริเริ่มของสถาบันไทยพัฒน์ที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจนำโครงการซึ่งเข้าเกณฑ์ได้รับ ESG เครดิต มาขึ้นทะเบียนเพื่อรับการประเมินและใช้ประโยชน์จาก ESG เครดิตในการสื่อสารถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนของกิจการ ที่ครอบคลุมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยที่กิจการสามารถสะสมเครดิตได้อย่างต่อเนื่องจากโครงการและกิจกรรมทางธุรกิจที่ได้รับการประเมิน

📌 ข้อมูลโครงการติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแนวรั้ว



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันไทยพัฒน์: คุณศิตา ศิริศักดิพร
LINE ID: @thaipat
อีเมล: info@thaipat.org



--------------------------------------
1 นิยามของคำว่า “สีเขียว” มีความหลากหลายตามแต่ละกิจการที่นำไปใช้ (Environmental, Ecological, Eco-friendly) ซึ่งโดยทั่วไป หมายรวมถึง การผลิตพลังงานไฟฟ้าและยานพาหนะที่ใช้คาร์บอนต่ำ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การควบคุมมลพิษ การแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ การจัดการของเสียและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ในรูปของทรัพยากรใหม่หรือแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน (Waste of Energy) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นใดที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม.
2 SDGs (Sustainable Development Goals) หมายถึง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
3 UNTAD (United Nations Conference on Trade and Development) หมายถึง การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา



[ข่าวประชาสัมพันธ์]

No comments:

Post a Comment