แนวร่วมอุณหภิบาล
ที่มา | ความสำคัญ | สิทธิประโยชน์ |
เป็นที่ทราบกันดีว่า ประชาคมโลกได้เห็นพ้องร่วมกันตามความตกลงปารีส ที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิค่าเฉลี่ยโลกให้ต่ำกว่า 1.5 °C (เทียบกับระดับอุณหภูมิยุคก่อนอุตสาหกรรม) เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากข้อมูลสภาพภูมิอากาศซึ่งเก็บจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ 6 แหล่ง พบว่า ปี ค.ศ. 2024 อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกได้เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 1.55 °C (± 0.13 °C) เกินกว่าระดับอุณหภูมิยุคก่อนอุตสาหกรรมเป็นปีแรก และเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
แม้การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่สูงกว่า 1.5 °C ในปี ค.ศ. 2024 ยังมิใช่เครื่องชี้ว่า เป้าหมายตามความตกลงปารีสได้ถูกทำลายลง เพราะเป้าหมาย 1.5 °C หมายถึง อุณหภูมิค่าเฉลี่ยโลกในระยะ 20 ปี แต่ก็นับเป็นสัญญาณอันตราย หากยังปล่อยให้มีการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับนี้ต่อไป
งานวิจัยจากข้อมูลเชิงประจักษ์ของสถาบันพ็อทซ์ดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบทางภูมิอากาศ (PIK) ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 2024 ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการลดลงของรายได้ 19% ในอีก 25 ปีข้างหน้า จากผลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้เกิดขึ้นแล้ว แม้จะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดนับจากวันนี้ก็ตาม โดยตัวเลขความเสียหายจากผลกระทบทางภูมิอากาศมีมูลค่าอยู่ที่ 38 ล้านล้านเหรียญต่อปีโดยประมาณ ซึ่งมากกว่าเม็ดเงินที่จำเป็นต้องใช้ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2 °C อยู่ถึง 6 เท่า
กระนั้นก็ตาม ความเชื่อในเรื่องโลกร้อนที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดทางเลือกระหว่างการดำเนินการกับผลกระทบทางภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ กับการไม่ดำเนินการใด ๆ เพราะเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
สถาบันไทยพัฒน์ เห็นว่าการร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคนละไม้คนละมือตามวิสัยที่ตนดำเนินการได้ในกิจกรรมซึ่งส่งผลบวกต่อภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ดีกว่าการรอเวลาให้ธรรมชาติเป็นเครื่องพิสูจน์โดยที่ไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงใด ๆ