แนวร่วมอุณหภิบาล
ที่มา | ความสำคัญ | สิทธิประโยชน์ |
ในภาคธุรกิจ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จำแนกออกได้เป็น 3 ขอบข่าย คือ กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานขององค์กร (ขอบข่ายที่ 1) กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน (ขอบข่ายที่ 2) และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่า (ขอบข่ายที่ 3)
จากรายงาน Scope 3 Upstream Report ของ CDP (Carbon Disclosure Project) เมื่อปี ค.ศ. 2024 ระบุว่า ปริมาณการปล่อยมลอากาศที่มีสัดส่วนมากสุดเกิดขึ้นในขอบข่ายที่ 3 จากกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทาน โดยมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 26 เท่าของปริมาณการปล่อยมลอากาศในขอบข่ายที่ 1 และขอบข่ายที่ 2 รวมกัน
ฉะนั้น การที่องค์กรจะวางแผนจัดการเฉพาะมลอากาศจากการดำเนินงานและจากการใช้พลังงาน เพื่อนำไปสู่การบรรลุ Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย หากปราศจากการวางแผนบริหารมลอากาศในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งครองสัดส่วนปริมาณมลอากาศที่มากสุดในบรรดากิจกรรมทางธุรกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้น
แต่ด้วยเหตุที่กิจกรรมในห่วงโซ่คุณค่าส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับคู่ค้า โดยที่องค์กรไม่มีอำนาจควบคุมหรือไม่มีความเป็นเจ้าของในการสั่งการ จึงมีความยากลำบากในการดำเนินการ อีกทั้งต้นทุนในการรวบรวมข้อมูลมลอากาศในขอบข่ายที่ 3 ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงาน 15 ประเภท* อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงจนไม่สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติ
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ร่วมกับภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี เล็งเห็นความจำเป็นในการพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือเพื่อช่วยองค์กรธุรกิจในการปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางกฎระเบียบ มาตรฐานและกรอบการดำเนินงานที่เป็นทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ โดยเน้นที่การกำกับดูแลให้กิจการสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ยุคคาร์บอนต่ำ ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่คุณค่า
--------------------------------------
* ประกอบด้วย ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 1) สินค้าและบริการที่สั่งซื้อ 2) สินค้าประเภททุน 3) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงและพลังงาน 4) การขนส่งและกระจายสินค้าต้นน้ำ 5) ของเสียที่เกิดจากการดำเนินงาน 6) การเดินทางเพื่อธุรกิจ 7) การเดินทางไปกลับของพนักงาน 8) สินทรัพย์เช่าต้นน้ำ 9) การขนส่งและกระจายสินค้าปลายน้ำ 10) การแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย 11) การใช้ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย 12) การบำบัดเมื่อสิ้นอายุผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย 13) สินทรัพย์เช่าปลายน้ำ 14) สิทธิพิเศษในการผลิตหรือบริการ 15) การลงทุน